Loading color scheme

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

SOM ED 11 10 2565

          กระทรวงการศึกษาและฝึกอบรมของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 17 (The 17th ASEAN Senior Officials Meeting on Education – 17th SOM-ED) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม วันที่ 11 ตุลาคม 2565 โดยในส่วนของประเทศไทย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษารักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวที่ประชุม ฯ ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานการศึกษาของอาเซียน ปี 2564 – 2568 ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน 2) ยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยต้องไม่ละเลยผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มชายขอบต่าง ๆ 3) เพิ่มขีดความสามารถในการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาตลอดชีวิต 4) สนับสนุนการพัฒนาการศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาซึ่งจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของงานในอนาคต และ 5) การดำเนินงานตามแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการประสานงาน การจัดการความรู้และระบบการประเมินผล

SOM ED2 11 10 2565

          ดร.อรรถพล สังขวาสี หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้นำเสนอเกี่ยวกับการดำเนินโครงการและกิจกรรมของ ประเทศไทยที่สอดคล้องกับแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน ปี 2564- 2568 ได้แก่ การจัดประชุมระดับชาติด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น รวมทั้งการจัดโครงการ High-Speed Train Course Development ซึ่งเป็นการจัดอบรมให้ความรู้แก่ครู บุคลากรด้านการศึกษาเกี่ยวกับการจัดหลักสูตรระบบราง ทำให้ครูและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้ และสามารถเตรียมการสำหรับการจัด การเรียนการสอนระบบรางในอนาคต

SOM ED1 11 10 2565

          นอกจากนี้ ประเทศไทยในฐานะประธานร่วมการประชุมคณะทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ครั้งที่ 3 ยังได้รายงานการประชุมฯ ให้ที่ประชุมได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้าง ความเข้มแข็งให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อ การเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนในภูมิภาค และเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ได้แก่ (1) การจัดการองค์ความรู้และนโยบาย (2) การจัดกิจกรรมและโครงการเพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และ (3) การประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และภาคีเครือข่ายได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปฏิญญาฯ และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อจัดประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่นต่อไป

SOM ED3 11 10 2565

สรุปเรียบเรียง : รุ่งกานต์ พันธุ์ภักดี
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
11 ตุลาคม 2565