Loading color scheme

คุณหญิงกัลยา มุ่งผลักดันประเทศสมาชิกซีมีโอ “ศาสตร์และศิลป์แห่งชีวิต” ในการพัฒนาการศึกษาช่วงหลังโควิด-19 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระหว่างการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 52

N seamec 52 10 2 2566

          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ในระหว่างการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 52 (สภาซีเมค) ณ โรงแรม EDSA Shangri-La กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ได้เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะ ซึ่งมี H.E. Ms. Sara Zimmerman Duterte-Carpio (ซาร่า ซิมเมอร์มัน ดูแตร์เต-คาร์ปิโอ) รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ เป็นประธาน โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงจากประเทศสมาชิกองค์การซีมีโอ ทั้ง 11 ประเทศ สมาชิกสมทบ 9 ประเทศ หน่วยงานสมาชิกสมทบ 7 แห่ง และภาคีเครือข่ายอื่นๆ เช่น ศูนย์และเครือข่ายระดับภูมิภาคขององค์การซีมีโอ 26 แห่ง ประมาณ 200 คน เข้าร่วมการประชุมด้วย

seamec1 52 10 2 2566

          การประชุมครั้งนี้ได้มีมติให้ศูนย์และเครือข่ายในระดับภูมิภาคขององค์การซีมีโอทั้ง 26 แห่ง และสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ดำเนินงานในการพัฒนาด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับวาระการศึกษาขององค์การ ได้แก่ การพัฒนาด้านเด็กปฐมวัย การจัดการเรียนร่วม การอาชีวศึกษา การพัฒนาครู การอุดมศึกษา การพัฒนาหลักสูตรในศตวรรษที่ 21 ด้านสุขภาพอนามัย การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร ด้านปัญญาประดิษฐ์ สะเต็มศึกษาเพื่อการมีงานทำ นวัตกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ดั้งเดิม และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายและมรดกทางวัฒนธรรม เป็นต้น

          ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ได้ร่วมแสดงความยินดีกับ H.E. Ms. Sara Zimmerman Duterte-Carpio (ซาร่า ซิมเมอร์มัน ดูแตร์เต-คาร์ปิโอ) รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ ในโอกาสที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค และประธานการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 52 และเชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของประธานสภาซีเมค จะสามารถนำพาองค์การซีมีโอให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและก้าวข้ามความท้าทายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของภูมิภาคในช่วงหลังโควิด-19 พร้อมกันนี้ยังกล่าวแสดงความชื่นชม H.E. Mr. Chan Chun Sing (ชาน ชุง ซิง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อพันธกิจของประธานสภาซีเมคตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลักดันการดำเนินงานขององค์การซีมีโอจนบรรลุผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม และขอขอบคุณรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ทั้งนี้ได้กล่าวย้ำความสำคัญของการบูรณาการ “ศาสตร์และศิลป์แห่งชีวิต” (Arts of Life) ไว้ในการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา (STEM) สู่การจัดการเรียนรู้แบบศาสตร์และศิลป์ที่ผสมผสานในลักษณะที่เรียกว่า STEAM เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นด้านวัฒนธรรม คุณค่า และอัตลักษณ์ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย

seamec2 52 10 2 2566

          สำหรับคณะผู้แทนไทยครั้งนี้ ประกอบด้วย นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศ สป. และนางสาวสุปราณี คำยวง รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. คณะเจ้าหน้าที่สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ศูนย์ระดับภูมิภาคของประเทศไทย รวม 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ซีมีโอสปาฟา ศูนย์ซีมีโอไรเฮด ศูนย์และเครือข่ายซีมีโอทรอปเมด ศูนย์ซีมีโอเซพส์ และศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด เข้าร่วมการประชุมฯ ด้วย

อ่านสรุปรายงานเพิ่มเติม : Click..

สรุปและเรียบเรียง : นางสาวสริญณพัชร์ ธรรมบุศย์
นางกุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มงานความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
10 กุมภาพันธ์ 2566