Loading color scheme

สานสัมพันธ์ ไทย - ชิลี ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษา

สานสัมพันธ์ ไทย ชิลี 27 6 2567

          เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 เวลา 11.00 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ นายปาตริซิโอ เฟร์นันโด พาวเวลล์ โอโซริโอ (H.E. Mr. Patricio Fernando Powell Osorio) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย พร้อมด้วย Mr. David Hansen รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต จากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งและหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและสาธารณรัฐชิลี โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการหารือ ณ ห้องรับรองดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ

สานสัมพันธ์ ไทย ชิลี1 27 6 2567

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับ นายปาตริซิโอ เฟร์นันโด พาวเวลล์ โอโซริโอ และแสดงความยินดีในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้กล่าวถึง นโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการของไทย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกับผู้เรียน มุ่งเน้นการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง และ“ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา “Anywhere Anytime” โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียนทุกคน อีกทั้ง เปิดโอกาสให้มีการจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา สำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถ นอกจากนี้ นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

สานสัมพันธ์ ไทย ชิลี2 27 6 2567

          นายปาตริซิโอ เฟร์นันโด พาวเวลล์ โอโซริโอ เผยว่ามีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมชื่นชมนโยบายด้านการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน และได้แสดงความคิดเห็นว่าประเทศไทยและสาธารณรัฐชิลีมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการสนับสนุนด้านการศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม

สานสัมพันธ์ ไทย ชิลี3 27 6 2567

          นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวถึงความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างทั้งสองประเทศ อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนภาษาสเปน และลาตินศึกษา รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสัญชาติชิลีด้านอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอน โดยโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจะให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสาธารณรัฐชิลีแก่เด็กนักเรียน

สานสัมพันธ์ ไทย ชิลี4 27 6 2567

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวขอบคุณสาธารณรัฐชิลีที่ให้การสนับสนุนโครงการ กิจกรรม และความร่วมมือต่าง ๆ ที่ผ่านมา และมีความยินดีสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาหากบริษัทสัญชาติชิลีหรือชาวชิลีมีความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาของไทยในโอกาสต่อไป

สรุป / เรียบเรียง: อดิเรก บุญเที่ยง
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
27 มิถุนายน 2567